Translated into Thai by www.prachatai.com.
______________________________________________________________________________________________________________________________________
พ.ศ.2549 เป็นปีแห่งการก้าวกระโดดถอยหลังก้าวใหญ่ของสังคมไทย ตบท้ายด้วยระเบิดรับปีหมูให้สมกับการตกต่ำจนใกล้จะเป็น “สาธารณรัฐกล้วย” เข้าไปทุกที เมื่อมองออกไปในเวทีสากลด้วยสายตาของรากหญ้า ค.ศ. 2006 อาจไม่ใช่ปีทองอันสุขสม แต่ท่ามกลางความมืดมนและปั่นป่วนราวกับวันสิ้นโลกจะเกิดขึ้นได้ในวินาทีวินาทีหนึ่ง เรายังพอมองเห็นประกายความหวังเรืองรองให้มองอนาคตในทางที่ดีได้บ้าง
หลักปฏิบัติของสื่อมวลชน (ที่ไม่เกี่ยวกับทฤษฎีในตำรา) ก็คือ อะไรที่เป็นข่าวใหญ่มักต้องเป็นข่าวร้าย เรื่องแปลกแต่จริงในปีที่ผ่านมาก็คือ เรื่องที่ร้ายแรงที่สุด กล่าวคือ ปัญหาโลกร้อน กลับไม่ค่อยเป็นข่าวมากเท่าที่ควร หายนะของโลกอาจไม่ได้จบลงอย่างสนั่นหวั่นไหววินาศสันตะโรดังในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด มันอาจคืบคลานมาอย่างเงียบเชียบ และถ้าเราไม่สนใจมองรอบตัวให้ดี เรือไททานิคโลกของเราคงชนภูเขาน้ำแข็งอับปางในเร็ววัน
กระนั้นก็ตาม มีข่าวเล็กๆ หลายข่าวที่เราอาจเรียกว่า “ข่าวดีที่ไม่ค่อยเป็นข่าว” ให้พอชื่นใจได้บ้าง ในปีที่ผ่านมา ขบวนการสังคมใหม่หรือขบวนการความยุติธรรมโลกได้ชัยชนะเล็กๆ หลายครั้ง จนนักเคลื่อนไหวหลายคนเอ่ยปากว่า”เรากำลังจะชนะ” คำว่า “เรากำลังจะชนะ” ไม่เหมือนกับ “เราชนะแล้ว” เพราะ “เรากำลังจะชนะ” มีความนัยที่เป็นเสียงเรียกร้องให้ทุกคนทุ่มเทต่อไป ไม่ใช่หยุดนิ่งฝันหวานกับชัยชนะชั่วครู่ชั่วยาม
ปีที่แล้ว เราได้เห็นลมการเมืองพัดหวนไปทั่วโลก ในอภิจักรวรรดิอเมริกัน ชัยชนะถล่มทลายของพรรคเดโมแครตไม่ได้หมายถึงความเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ และคงไม่มีใครคาดหวังว่าความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะบันดาลมาจากสภาคองเกรส แต่ชัยชนะของเดโมแครตก็ยังเป็นเสมือนค้อนหัวใหญ่ทุบใส่รัฐบาลขวาจัดของบุช แม้ว่าพรรคเดโมแครตยังคงรับเงินสนับสนุนจากบรรษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย แต่ทุกฝ่ายก็คาดว่า ในแง่ของการค้าและนโยบายเศรษฐกิจ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่พรรคเดโมแครตจะหาทางถอยห่างจากแนวทางโลกาภิวัตน์ของบรรษัท
ลมหวนทางการเมืองนี้สะท้อนออกมาในตัวบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งเก้าอี้ 7 ตัวในวุฒิสภา และ 28 ตัวในสภาผู้แทนราษฎร เปลี่ยนใบหน้าผู้ครองเก้าอี้จากนักการเมืองที่สนับสนุน “การค้าเสรี” มาเป็นนักการเมืองที่สนับสนุน “การค้าที่เป็นธรรม”นักการเมืองหลายคนเสนอแนวทางแน่ชัดที่จะแสวงหาข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งขึ้น ชัยชนะของนักการเมืองเหล่านี้มีตั้งแต่วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ เบอร์นี แซนเดอร์ส ที่วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่มาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย วุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ เชอร์รอด บราวน์ นักกิจกรรมและผู้เขียนหนังสือ Myths of Free Trade : Why American Trade Policy Has Failed
นอกจากนี้ การเลือกตั้งในระดับรัฐและท้องถิ่น เรายังเห็นนักเคลื่อนไหวของขบวนการความยุติธรรมโลกหลายคนได้รับเลือกตั้ง อาทิ ในรัฐมินเนโซตา เป็นต้น
ส่วนพรรครีพับลิกันกำลังแตกแยกและระส่ำระสาย คะแนนนิยมของประธานาธิบดีบุชไม่ได้ตกต่ำแค่ในหมู่ชาวอเมริกัน แต่แม้กระทั่งในพรรคของตัวเอง มีผู้สมัครพรรครีพับลิกันหลายคนปฏิเสธไม่ยอมปรากฏตัวพร้อมกับประธานาธิบดี สงครามอิรักกำลังกลายเป็นหนามยอกอก การต่อต้านสงครามขยายออกไปมากขึ้น ในปีที่ผ่านมา ร้อยโทเอเรน วาทาดะ นายทหารชาวอเมริกัน-ญี่ปุ่นจากฮาวายปฏิเสธไม่ยอมไปสงครามที่เขาเรียกว่า “สงครามที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม” การชักชวนให้คนหนุ่มสาวเข้ามาเป็นทหารในกองทัพนับวันจะยากเย็นยิ่งขึ้น
อำนาจของอภิจักรวรรดิกำลังถูกท้าทาย ในเดือนกันยายน ประเทศเล็กๆ 5 ประเทศในเอเชียกลาง คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาที่ปฏิญาณว่าจะไม่ยอมให้มีอาวุธนิวเคลียร์ติดตั้งในดินแดนของตน เท่ากับเป็นการหักหน้ารัฐบาลบุชที่หวังจะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ไว้ในภูมิภาคนั้น โดนัลด์ รัมสเฟลด์ ต้องลาออกหลังการเลือกตั้ง และเข้าร่วมก๊วนเดียวกับเฮนรี คิสซิงเจอร์ ในชมรมอันธพาลระดับโลกที่ไม่ค่อยกล้าเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งยังถูกฟ้องร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการทรมานนักโทษในอาบูกราอิบและกวนตานาโม
ประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีสีสันและเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากกว่า ออกมาแสดงพลังบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2006 ต้องบันทึกการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในใจกลางอภิจักรวรรดิ นั่นคือ การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของแรงงานอพยพ ในเดือนมีนาคม ขบวนผู้ประท้วงที่ล้นหลามราว 750,000 คน ในลอสแองเจลิส เกือบกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เพียงแต่การสำแดงพลังของชนชั้นแรงงานในวันกรรมกรสากลที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 1 ล้านคน มาทำลายสถิติเสียก่อน ไม่เฉพาะในลอสแองเจลิส แต่ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา มีการเดินขบวนเกิดขึ้นในกว่า 100 เมืองทั่วประเทศ การเดินขบวนครั้งนี้คือเสียงกู่ร้องครั้งสำคัญของสมาชิกสังคมอเมริกันที่ถูกกีดกันอยู่ชายขอบที่สุด นั่นคือ แรงงานอพยพ ซึ่งเป็นคนที่คอยทำอาหาร ขัดถูบ้านและโรงแรม และเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้ชาวอเมริกัน โดยไม่เคยมีปากเสียงมาตลอด
ค.ศ. 2006 ยังเป็นปีแห่งการเลือกตั้งในดินแดนละตินอเมริกา และสายตาของโลกกำลังหันมาจับมองภูมิภาคนี้ ชาวละตินอเมริกันจำนวนไม่น้อยประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการ “ความก้าวหน้า” ทางเศรษฐกิจตามโมเดลแบบบรรษัท ชิลีมีประธานาธิบดีหญิงคนแรก มิเชล แบชเชเลต์ ชาวบราซิลเลือกอดีตผู้นำสหภาพแรงงาน ลูลา ดา ซิลวา ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกหนึ่งสมัย อูโก ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งครั้งสำคัญอีกครั้งในเวเนซุเอลาด้วยสัดส่วนคะแนนเสียงที่มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน แสดงให้เห็นแรงสนับสนุนต่อโครงการทางสังคมแบบนิวดีล (New Deal) ของเขา ในเอกวาดอร์ ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกนักเศรษฐศาสตร์ ราฟาเอล คอร์เรอา ผู้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อฉันทามติวอชิงตัน แทนที่จะเลือก “พ่อค้ากล้วย” ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ
แต่ผู้นำที่น่าประทับใจที่สุดคงเป็น เอโว โมราเลส ประธานาธิบดีชาวพื้นเมืองคนแรกของโบลิเวีย นับตั้งแต่โมราเลสเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม เขาทำให้สื่อธุรกิจต่างประเทศตื่นตระหนกครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการทำสิ่งที่นักการเมืองที่ดีควรทำ นั่นคือ ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนรณรงค์หาเสียง ด้วยแรงสนับสนุน—รวมทั้งแรงกดดัน—จากขบวนการสังคมที่เข้มแข็ง รัฐบาลโมราเลสไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเริ่มโอนกิจการน้ำมันและก๊าซมาเป็นของชาติในเดือนพฤษภาคม กระบวนการมาถึงจุดสูงสุดในเดือนธันวาคม เมื่อรัฐบาลลงนามในสัญญากับบรรษัทพลังงานข้ามชาติ ทำให้รัฐบาลเข้าไปควบคุมการผลิตน้ำมันและก๊าซส่วนใหญ่ จนสามารถนำกำไรกว่าครึ่งหนึ่งมาใช้ในโครงการทางสังคม ปลายเดือนพฤศจิกายน พรรคการเมืองของโมราเลสยังเป็นหัวหอกในการผ่านกฎหมายปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ ซึ่งจะนำที่ดินจำนวนมากถึง 123,500,000 ไร่ มากระจายให้ คัมเปซิโน (เกษตรกร) ที่เป็นผู้หว่านไถตัวจริง
ชาวเม็กซิกันจำนวนไม่น้อยลุกฮือขึ้นประท้วงใน ค.ศ. 2006 จนถึงบัดนี้ ทั้งประเทศก็ยังเหมือนยืนหมิ่นเหม่อยู่บนขอบของการปฏิวัติ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผลลัพธ์ออกมาค้านสายตาที่สุดในช่วงฤดูร้อน ชาวเม็กซิกันหลายล้านคนออกมายึดครองถนนและจัตุรัสโซกาโลหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อประท้วงการคอร์รัปชั่นและการเลือกตั้งสกปรก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่น่าจะเป็นผู้ชนะตัวจริง ตั้งรัฐบาลเงาขึ้นมาคอยตรวจสอบรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม ชาวเมืองส่วนใหญ่ในอัวฮากายึดครองเมืองเพื่อขับไล่นายกเทศมนตรี เป็นเวลาหลายเดือนที่อัวฮากากลายเป็นเขตปกครองตนเองคล้ายกับปารีสคอมมูนเมื่อ ค.ศ. 1871 จนกระทั่งรัฐบาลกลางใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามตอนปลายปี ท่ามกลางความปั่นป่วนทั้งหมดนี้ รองผู้บัญชาการมาร์กอสหรือ “ผู้แทนหมายเลขศูนย์” ของซาปาติสตา ออกรอนแรมไปทั่วประเทศเพื่อแสวงหาทางเลือกอื่น
นอกจากชัยชนะระดับประเทศ ชาวพื้นเมืองยังได้ชัยชนะเล็กๆ ตลอดปีที่แล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้นำชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง นักกิจกรรมด้านป่าไม้และบริษัททำไม้ บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยคุ้มครองผืนป่าถึง 5 ล้านเอเคอร์ และจำกัดการตัดไม้อีก 10 ล้านเอเคอร์ในป่าเกรทแบร์ไวล์เดอร์เนสที่ตั้งอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ในเดือนพฤศจิกายน ชนเผ่า Achuar ในเขตป่าฝนตรงพรมแดนเปรู-เอกวาดอร์ สามารถบีบให้บรรษัทผู้ผลิตน้ำมันและรัฐบาลเปรูยอมใช้นโยบายปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผลสำเร็จ
วันที่ 20 กรกฎาคม ศาลไนจีเรียพิพากษาให้บรรษัทเชลล์ต้องจ่ายค่าชดเชย 1.5 พันล้านดอลลาร์แก่ชนเผ่า Ijaw ที่อาศัยอยู่ในสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ชาวพื้นเมืองต่อสู้กับบรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่นี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เดือนธันวาคม ในบอตสวานา ชนเผ่า San หรือที่บางทีเรียกว่า บุชแมน ชนะคดีในศาลเกี่ยวกับการถูกขับไล่ออกจากถิ่นเกิด คำตัดสินของศาลช่วยให้พวกเขามีสิทธิที่จะดำรงชีวิต ล่าสัตว์และเร่ร่อนบนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษได้
ขณะที่ชนเผ่านาวาโฮยังต่อสู้กับการรุกคืบเข้ามาตั้งโรงงานไฟฟ้าแห่งใหม่ในเขตสงวนของตน สภาคองเกรสก็มีมติสั่งห้ามการให้สัมปทานใหม่ในการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซและเหมืองแร่ในเทือกเขาร็อคกีของรัฐมอนตานา
สายลมที่พัดหวนในละตินอเมริกา ประกอบกับแรงกดดันจากภาคประชาชนมานานหลายปีในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้น้ำเสียงในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป การประชุมขององค์การการค้าโลกหรือ WTO รอบโดฮาที่นครเจนีวาในเดือนกรกฎาคม ล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจับมือกันต่อต้านมาตรฐานที่เหลื่อมล้ำของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในประเด็นการอุดหนุนภาคเกษตร ในขณะที่รัฐบาลบุชเรียกร้องให้ประเทศอื่นเปิด “การค้าเสรี” รัฐบาลสหรัฐฯ เองกลับให้การอุดหนุนทางการเงินอย่างมโหฬารแก่ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศของตน รวมแล้วประมาณ 23 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ของภาคเกษตรกรรม ผู้แทนการค้าจากประเทศยากจนเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมั่งคั่งตัดลดการอุดหนุนที่บิดเบือนตลาดนี้เสียก่อน แล้วค่อยมาเจรจากันเรื่องการค้าเสรี แน่นอน ประเทศร่ำรวยดึงดันไม่ยอมอ่อนข้อ การเจรจาจึงล่มลงทันที
ปีที่แล้วไม่ใช่ปีแห่งความรุ่งโรจน์ของฝ่ายที่สนับสนุนการค้าเสรีเลยแม้แต่น้อย แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายการค้าและการพัฒนาที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง เริ่มเคลื่อนย้ายจากแวดวงฝ่ายซ้ายชายขอบเข้าไปอยู่ในเวทีนานาชาติกระแสหลัก กระบวนทัศน์ของ “เสรีนิยมใหม่” ที่ครอบงำโลกตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา กำลังสูญเสียความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือลงเรื่อยๆ พื้นที่หลายๆ แห่งในโลกที่แสวงหาทางเลือกอื่นกำลังผุดขึ้นมา
ผู้คลั่งไคล้การค้าเสรีจำต้องไว้อาลัยแก่โธมัส ฟรีดแมนที่จากไปเมื่อปลายปี แต่นักข่าวอิสระอย่างนอร์แมน โซโลมอน ตั้งคำถามที่แหลมคมอย่างยิ่ง ฟรีดแมนนั้นมั่งคั่งร่ำรวยล้นฟ้าจากการแต่งงานกับคนในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดตระกูลหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ความคิดที่อ้างเป็น “วิชาการ” ของเขาจะไม่เอียงกะเทเร่ไปเพราะการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชนชั้นสูง ซึ่งได้เปรียบจากนโยบายที่เอาเปรียบพวกเรา?
นอกจากความล้มเหลวของ WTO การเจรจาการค้าเสรีในระดับภูมิภาคก็ไม่คืบหน้าสักเท่าไร เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา(FTAA) ถูกผู้นำฝ่ายซ้ายในอเมริกาใต้คว่ำการเจรจามาตั้งแต่ ค.ศ. 2005 แม้ว่าการเจรจาแบบทวิภาคีอาจสำเร็จลงบ้างในบางประเทศ เช่น ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯกับเปรู แต่หลายประเทศในละตินอเมริกาก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่แยแส ในปี 2006 เอกวาดอร์ยกเลิกสัญญากับบรรษัทออกซิเดนทัล ปิโตรเลียม ทำเอารัฐบาลบุชนั่งไม่ติดจนต้องประท้วงด้วยการชะลอการเจรจาการค้ากับเอกวาดอร์ ต้นเดือนธันวาคมมีการพบปะประชุมของผู้นำกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแบบเดียวกับสหภาพยุโรป และเราย่อมไม่อาจมองข้ามบทบาทของอูโก ชาเวซ ที่เรียกร้องให้สร้างทางเลือกอื่นนอกเหนือจาก “การค้าเสรี” ขึ้นมาใหม่
ความก้าวหน้าอีกประเด็นหนึ่งที่อาจจุดความหวังให้เราว่า “โลกใบใหม่เป็นไปได้” ก็คือการรณรงค์เพื่อยกเลิกหนี้ต่างประเทศแก่ประเทศยากจนที่สุดในโลก ขบวนการความยุติธรรมโลกประสบความสำเร็จไม่น้อยในการทำให้ประเทศร่ำรวยต้องยอมรับนโยบายนี้ ทั่วโลกเริ่มยอมรับว่า การบังคับให้ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เจ็บป่วยอดอยาก แต่ยังต้องเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ นี่แหละคือความอยุติธรรม เพราะหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาในสมัยรัฐบาลเผด็จการ เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการที่ไม่ยั่งยืน หลังจากขบวนการประชาชนกดดันมานานนับสิบปี ในที่สุด ประเทศร่ำรวยในโลก รวมทั้ง IMF และธนาคารโลกก็ตกลงยกเลิกหนี้ให้ประเทศที่ยากจนที่สุด 18 ประเทศ ขบวนการประชาชนยังกดดันต่อไปเพื่อให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาภายในทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank—IDB) เข้าร่วมนโยบายนี้ด้วย
ปีที่แล้วไม่ใช่ปีที่ดีนักสำหรับบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่หลายบรรษัท โดยเฉพาะวอลมาร์ทนั้นโดนหนักที่สุด จากการรณรงค์เปิดโปงของนักเคลื่อนไหว ทำให้ภาพพจน์ของวอลมาร์ทตกต่ำทั่วโลก แม้แต่ยอดขายในสหรัฐฯ เองก็ดิ่งลง ยอดขายในเกาหลีย่ำแย่จนวอลมาร์ทต้องยอมขายห้าง 16 สาขาให้เครือข่ายดิสเคานท์สโตร์ของเกาหลี บรรษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศออกมาในเดือนกรกฎาคมว่า มันจะเลิกทำกิจการในเยอรมนี รัฐแมรีแลนด์ในสหรัฐฯ บังคับให้วอลมาร์ทต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านสุขภาพแก่คนงาน
บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันถูกขบวนการของภาคประชาสังคมรุมประท้วงในรัฐเท็กซัส จนต้องย้ายไปประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในรัฐโอคลาโฮมาแทน แต่กระนั้นก็ยังถูกผู้ประท้วงชุมนุมร้องตะโกนคำว่า “หน้าไม่อาย!” อยู่ดี ส่วนเบคเทลที่ถูกประท้วงบ่อยครั้งถึงขั้นต้องย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากซานฟรานซิสโก ยอมถอนตัวออกจากอิรักอย่างน่าทุเรศในปีนี้ บรรษัทถูกยกเลิกสัญญาและชื่อเสียที่ด่างพร้อยอยู่แล้วก็ตกต่ำจนโสโครก โรงพยาบาลเด็กในเมืองบาสราที่เบคเทลได้รับสัญญาจ้างให้สร้าง ซึ่งนางลอรา บุชให้การสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาโดยหวังว่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึง “คุณธรรม” แบบอเมริกัน ลงท้ายก็ค้างเติ่ง การก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดและงบประมาณบานปลาย กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความอัปยศแทน
แม้แต่สหภาพยุโรปก็ท้าทายอำนาจของบรรษัท อียูออกกฎหมายบังคับใช้มาตรการปลอดภัยไว้ก่อน (precautionary principle) กล่าวคือ บรรษัทต่างๆ จะต้องพิสูจน์ว่า ผลิตภัณฑ์เคมีของตนปลอดภัยก่อนจึงจะวางตลาดได้ ไม่ใช่ผลักภาระให้หน่วยงานรัฐบาลเป็นผู้พิสูจน์ (ซึ่งเป็นข้อกำหนดตาม WTO) ออสเตรียสั่งห้ามเมล็ดแคโนลาและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโต โรมาเนียสั่งห้ามถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม
ส่วนในสหรัฐอเมริกาเอง หลายเมืองและหลายมลรัฐเริ่มฉีกออกไปจากแนวทางของรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะกฎหมายแก้ไขปัญหาโลกร้อนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นหมุดหมายของการที่รัฐบาลท้องถิ่นในมลรัฐลงมือทำในสิ่งที่รัฐบาลกลางไม่ยอมทำ (ในที่สุด คนเหล็กก็รู้จักทำตัวเป็นพระเอกนอกจอเสียที!)
บริษัทชุดชั้นในยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอเมริกาเหนืออย่างวิคตอเรียส์ซีเคร็ท (Victoria”s Secret) ถูกนักอนุรักษ์ป่ารณรงค์ประท้วงยาวนาน จนสุดท้ายต้องยอมใช้กระดาษรีไซเคิลกับแคตตาล็อกที่พิมพ์ออกมาถึง 350 ล้านเล่มต่อปี ที่ผ่านๆ มา แคตตาล็อกชุดชั้นในผลิตจากกระดาษที่ได้จากการตัดไม้ในป่าเขตขั้วโลกเหนือที่กำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นแนวหน้าในการรณรงค์ครั้งนี้คือ กลุ่ม ForestEthics
ชัยชนะเล็กๆ เหล่านี้คือสารที่บอกให้เรารู้ว่า อำนาจอันน่าเกรงขามของกองทัพและบรรษัทเป็นสิ่งที่เรายังต้านทานขัดขืนได้ อำนาจของขบวนการเคลื่อนไหวเล็กๆ คนงานเล็กๆ พลเมืองเล็กๆ ชนเผ่าเล็กๆ เป็นสิ่งที่มิอาจดูเบา ความจริงที่เรามักลืมไปในยามท้อแท้ก็คือ เนื้อเยื่อที่กอปรขึ้นเป็นโลกนั้นถักทอขึ้นมาจากการกระทำเล็กๆ ของคนเล็กๆ เหตุการณ์อันใหญ่โตมักเป็นตัวการที่ฉีกทึ้งเนื้อเยื่อของโลกจนรุ่งริ่ง ทิ้งภาระให้คนเล็กๆ ต้องคอยปะชุนซ่อมแซมโลกขึ้นมาใหม่ การกระทำเล็กๆ ของคนเล็กๆ ยังดำเนินอยู่เมื่อปีที่แล้วและจะดำเนินต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
__________
Research assistance for this article provided by Sean Nortz. Photo credit: Mike Rhodes / San Francisco Bay Area Independent Media Center.