Translated into Thai by www.prachatai.com.
_____________________________________________________________________________________________________________________________________
เมื่อการเจรจา WTO รอบโดฮาล้มเหลวลงเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฝ่ายที่ปกป้องโลกาภิวัตน์ของบรรษัทที่ยังมองโลกในแง่ดีบอกว่า องค์การการค้าโลกกำลัง “หยุดพักชั่วคราว” ในขณะที่ผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่กลับเรียกภาวะชะงักงันนี้ว่า “ความล้มเหลว” รัฐมนตรีพาณิชย์ของอินเดีย นายก<?xml:namespace prefix = st1 ns = “urn:schemas-microsoft-com:office:smarttags” />มล นาถ ตัดสินฟันธงเลยว่า การเจรจา WTO ตอนนี้อยู่ก้ำกึ่ง”ระหว่างห้องไอซียูกับฌาปนสถาน” อนาคตขององค์กรดูจะล่อแหลมมาก
คำถามสำหรับฝ่ายก้าวหน้าก็คือ: สภาวะเช่นนี้มีความหมายอย่างไรต่ออนาคตของ “การค้าเสรี”?
สำหรับคนจนไม่ว่าประเทศไหนในโลก การที่ WTO เป็นอัมพาตไปเช่นนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อย ภาวะชะงักงันโดยไม่มีข้อยุติของการเจรจาการค้า สะท้อนถึงชัยชนะขาวสะอาดของขบวนการความยุติธรรมโลก ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO มาอย่างต่อเนื่องตลอดแปดปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ซีแอตเติล, แคนคูนและฮ่องกง นักเคลื่อนไหวให้เหตุผลมานานแล้วว่า การที่ WTO ถือว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อม, การคุ้มครองแรงงานและการปกป้องผู้ผลิตรายย่อย เป็นอุปสรรคขวางกั้นการค้า เท่ากับ WTO อุ้มชูระบบการค้าที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทข้ามชาติแต่ถ่ายเดียว โดยเอาเปรียบประชาชนคนทำงานทั้งในประเทศมั่งคั่งและในซีกโลกใต้
กลุ่มนักเคลื่อนไหวอย่าง Public Citizen ซึ่งปฏิบัติตัวเสมือนสุนัขเฝ้าบ้านที่คอยปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ มองว่าความล้มเหลวของการเจรจารอบโดฮาเป็นเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ โลรี วัลลัช (Lori Wallch) ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังการค้าโลก (Global Trade Watch) (และผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ Whose Trade Organization?: Corporate Globalization and the Erosion of Democracy, 1999) ออกแถลงการณ์ว่า “ตอนนี้คือเวลาพิเศษที่รัฐบาลและประชาสังคมทั่วโลกกำลังมีโอกาสที่จะสร้างระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่คนส่วนใหญ่จริง ๆ”
โอกาสเปิดช่องให้แล้ว แต่ความจนตรอกของ WTO ก็ทำให้เกิดภาวะหมิ่นเหม่ใหม่ ๆ ขึ้นมาเช่นกัน
เรื่องตลกร้ายก็คือ ในขณะที่สถาบันนี้ถูกฝ่ายซ้ายประณามหยามเหยียดมานานว่า เป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยม แต่ใช่ว่าองค์กรนี้เป็นที่ชื่นชมของฝ่ายขวาจัดบางส่วนหรือก็เปล่า รัฐบาลบุชซึ่งโกรธเกรี้ยวจนขนชี้ชันทุกครั้งที่ต้องยอมรับ “บททดสอบระดับโลก” มักจะมองหลักการ “หนึ่งประเทศหนึ่งเสียง” ของ WTO ด้วยความหวาดระแวง ปักใจว่าแนวทางพหุภาคีนี้เป็นการสกัดขัดขวางอภิสิทธิ์พิเศษของสหรัฐฯ และคอยถ่วงดุลมหาอำนาจไว้
ทำเนียบขาวนิยมเจรจาการค้าด้วยการยึดถือนโยบายของตนเป็นใหญ่ (unilateralism) มากกว่า สหรัฐฯ จึงไม่เต็มใจประนีประนอมเพื่อให้การเจรจา WTO รอดสันดอนต่อไป การเจรจารอบโดฮาล้มเหลวก็เพราะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปไม่ยอมยุติการอุดหนุนภาคเกษตรกรรมของตน ขณะที่เรียกร้องให้ประเทศยากจนเปิดตลาด รัฐบาลประเทศมหาอำนาจกลับยักย้ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในประเทศ ทำให้โวหาร “การค้าเสรี”กลายเป็นเรื่องโกหกคำโตไป
เมื่อการเจรจารอบโดฮาเริ่มต้นขึ้นในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ประเทศกาตาร์เมื่อ ค.ศ. 2001 การเจรจารอบนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “รอบพัฒนา” ฝ่ายสนับสนุน “การค้าเสรี” อ้างว่า การค้าเสรีจะนำความเติบโตและความมั่งคั่งมาสู่โลก ประเทศกำลังพัฒนาไม่ค่อยเชื่อน้ำยานี้เท่าไร เมื่อมีการประท้วงของมวลชนคอยหนุนหลังในระยะหลัง ผู้แทนการเจรจาของโลกที่สามจึงเรียกร้องว่า ก่อนที่พวกเขาจะยอมเปิดตลาด สหรัฐฯ และยุโรปจะต้องลดเงินอุดหนุนภาคเกษตรเสียก่อน แต่เมื่อการลดเงินอุดหนุนไม่เกิดขึ้นเสียที บวกกับคำเทศนาของรัฐบาลประเทศร่ำรวยมีแต่ความสับปลับและปากว่าตาขยิบ ผลลัพธ์จึงลงเอยที่ความล้มเหลวของการเจรจา
อะไรจะเกิดต่อไป?
ความหวังของโลรี วัลลัชที่จะเห็นระบบการค้าที่ดีกว่านี้อาจเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่มันไม่มีทางได้มาง่าย ๆ รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิล นายเซลโซ อโมริน กล่าวว่า เมื่อ WTO หาข้อยุติไม่ได้ การค้าระหว่างประเทศก็คงต้องดำเนินตาม”กฎของป่าดงดิบ” นั่นคือ ผู้เข้มแข็งย่ำยีผู้อ่อนแอ กฎแบบนี้โดนใจทำเนียบขาวพอดิบพอดี แต่มันอาจทำให้ฝ่ายก้าวหน้าเสียวสันหลังได้เหมือนกัน ก่อนหน้าการประชุม WTO ครั้งล่าสุด นักเขียนฝ่ายก้าวหน้าของอังกฤษอย่าง George Monbiot ถึงขนาดประกาศออกมาโต้ง ๆ ว่า เขาคิดผิดที่เคยเรียกร้องให้ล้มล้างองค์การการค้าโลก เขาเขียนไว้ว่า “สิ่งที่เลวร้ายกว่าโลกที่มีกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศผิด ๆ ก็คือโลกที่ไม่มีกฎเกณฑ์การค้าเลย”
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลบุชเมิน WTO และหันมาทุ่มเทให้กับข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีแบบประเทศต่อประเทศ ในการเจรจา FTA ประเทศยากจนไม่สามารถผนึกกำลังเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ไม่สามารถเข้าร่วมกลุ่มในการเจรจาต่อรอง เช่น กลุ่ม G20+ ซึ่งยืนหยัดต้านทานสหรัฐฯ และยุโรปมาแล้วในการประชุมที่แคนคูน การเจรจาทวิภาคีทำให้ทำเนียบขาวทำตัวเป็นนายหน้าให้บรรษัทข้ามชาติ สร้างข้อตกลงที่เอื้ออำนวยบรรษัทยักษ์ใหญ่ โดยบรรลุข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ออสเตรเลีย, ชิลี, โมร็อกโก และสิงคโปร์ และยังมีประเทศที่กำลังเข้าแถวรออีกมาก FTA กับประเทศโอมานเพิ่งผ่านทำเนียบขาวไปได้ในเดือนกรกฎาคม และข้อตกลงกับประเทศเปรูและโคลอมเบียเพิ่งจะสำเร็จไปแล้ว
ดังที่ Monbiot เขียนว่า ประธานาธิบดีบุช “กำลังหาทางเจรจารายตัวกับประเทศที่อ่อนแอกว่า เพื่อจะได้ยัดเยียดเงื่อนไขการค้าที่หนักหน่วงกว่าได้ง่าย ๆ บุชต้องการเอาระบบจักรวรรดินิยมมาใช้แทนที่ระบบการค้าพหุภาคี และนี่ทำให้ขบวนการความยุติธรรมโลกตกอยู่ในสถานะที่ล่อแหลม”
ความกังวลของ Monbiot เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แม้ว่าข้อสรุปของเขายังน่ากังขา การเผชิญหน้ากับ FTA ที่เป็นการเจรจาทวิภาคี ย่อมสร้างความยากลำบากไม่น้อยแก่นักเคลื่อนไหว กระนั้นก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า การฟื้น WTO เป็นภารกิจที่คุ้มค่าให้ฝ่ายก้าวหน้ามาลงทุนลงแรง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การเจรจาทวิภาคีจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะมีองค์การการค้าโลกหรือไม่มีก็ตาม และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลบุชก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับว่า ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา
จนถึงบัดนี้ ความพยายามที่จะปฏิรูป WTO ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรนี้ให้หันมาสนับสนุน”การค้าที่เป็นธรรม” ยังเป็นความฝันไกลโพ้น ในระยะเฉพาะหน้า องค์การการค้าโลกน่าจะพยายามจับแพะชนแกะให้เกิดข้อตกลงการค้าแย่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งน่าจะเป็นโทษต่อคนจนมากกว่าเป็นคุณ ยังดีที่เรื่องนี้หลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะแต่งโคลงกำสรวลให้ WTO เราน่าจะตรวจชีพจรของมันให้แน่ใจก่อน การเจรจาการค้าเคยล้มเหลวมาก่อน การเจรจา WTO รอบอุรุกวัยก็เคยชะงักงันในช่วงต้นทศวรรษ1990 แต่ในตอนหลังก็ฟื้นคืนจนเจรจาจบรอบได้เช่นกัน ผู้แทนที่กลับมานั่งโต๊ะเจรจาหลังจากการประชุมที่ซีแอตเติลและแคนคูนอาจมองหน้ากันไม่ติด ข้อเท็จจริงที่อำนาจเจรจาการค้าแบบ “fast track” ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะหมดอายุในกลางปี ค.ศ. 2007 อาจทำให้สหรัฐฯ ยังไม่ยอมกลับมาหา WTO ในช่วงสองปีข้างหน้า กระนั้นก็ตาม องค์กรนี้อาจถูกรื้อฟื้นอีกครั้งโดยรัฐบาลใหม่ในอนาคตที่ยินดีเจรจาแบบพหุภาคีมากกว่าบุช แต่ก็สนับสนุนโลกาภิวัตน์ของบรรษัทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ขบวนการความยุติธรรมโลกไม่เพียงต้องหาทางโจมตีการเจรจา FTA แบบทวิภาคีตามแนวทางพรรครีพับลิกันเท่านั้น แต่ยังต้องระมัดระวังแนวทางแบบเดโมแครตที่โปร “การค้าเสรี” และรีบแสวงหาหนทางเลือกใหม่ที่นอกเหนือจากโลกาภิวัตน์แบบบรรษัท
กล่าวโดยสรุป ขบวนการความยุติธรรมโลกยังมีงานรออยู่ข้างหน้าอีกมาก ผู้ที่ต้องการสร้างระบบการค้าและโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรม ยังต้องอาศัยความอดทนและความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม มันอาจเป็นแรงบันดาลใจไม่น้อยที่ได้เห็นยักษ์โกไลแอธ ที่ครั้งหนึ่งดูเหมือนไม่รู้จักคำว่าพ่ายแพ้อย่าง WTO ต้องหงายหลังแอ้งแม้งด้วยฝีมือของดาวิดตัวเล็ก ๆ
__________
Photo credit: geraldford / Wikimedia Commons.