Translated into Thai by www.prachatai.com.
______________________________________________________________________________________________________________________________________
รัฐบาลบุชนั้นขึ้นชื่อลือชาในด้านการทำให้ทำเนียบขาวแนบแน่นกับธุรกิจเป็นพิเศษ ถ้าคุณเอาทีมภารกิจพิเศษด้านพลังงานที่ปฏิบัติงานเป็นความลับของดิก เชนีย์, การตัดลดภาษีครั้งมโหฬาร มาบวกกับทีมนักล้อบบี้ของบรรษัทที่ช่วยเขียนกฎหมายเอื้อต่ออุตสาหกรรมของตัวเอง คุณก็จะพบว่าข้อกล่าวหาข้างต้นน่าเชื่อถือมากทีเดียว กระนั้นก็ตาม มีเหตุผลหลายประการให้คิดในด้านตรงข้ามได้ด้วยว่า บางทีจอร์จ บุชกับดิก เชนีย์ อาจไม่ใช่นายทุนที่เก่งกาจเลย
ประวัติส่วนตัวของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในข้อที่เป็นนักธุรกิจผู้ล้มเหลว เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดี ส่วนดิก เชนีย์นั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักวาดภาพว่าเขาเป็นอดีตซีอีโอผู้ปราดเปรื่อง ส่วนฝ่ายก้าวหน้าก็กล่าวหาว่าเขาเป็นตัวตายตัวแทนของบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน แต่ความจริงเชนีย์ก็มีประวัติชีวิตที่น่าเคลือบแคลงไม่แพ้บุช แม้ว่าเขาจะสร้างความเติบโตให้ฮัลลิเบอร์ตันได้ในช่วง 4 ½ ปีที่เป็นประธานบรรษัท แต่ผลงานชิ้นโบดำที่เขาทิ้งไว้ให้ก็คือการเข้าซื้อบริษัทเดรสเซอร์อินดัสตรีส์ในปี ค.ศ. 1998 ด้วยมูลค่า 7.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็นดีลอัปยศ หลังจากเชนีย์คลายมือจากบังเหียนฮัลลิเบอร์ตันได้ไม่นาน บริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันหลายแห่งต้องยื่นขอความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลาย และราคาหุ้นของบรรษัทก็ตกต่ำดิ่งเหว นิตยสารโรลลิงสโตนรายงานไว้ในเดือนสิงหาคม 2004 ว่า “แม้ว่าราคาหุ้นของฮัลลิเบอร์ตันจะเด้งขึ้นจากสงคราม[อิรัก] แต่นักลงทุนที่ทุ่มเงินลงไป 100,000 เหรียญในหุ้นบรรษัทนี้ก่อนที่เชนีย์จะก้าวออกมาเป็นรองประธานาธิบดี มูลค่าหุ้นของเขาในวันนี้ก็ยังน้อยกว่า 60,000 ดอลลาร์อยู่ดี”
นักวิเคราะห์หลายคนฟันธงว่า รองประธานาธิบดีเชนีย์เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หุ้นของฮัลลิเบอร์ตันตกต่ำ หรืออย่างดีก็ตั้งคำถามกับความสำเร็จของเชนีย์ในฐานะผู้นำทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น เจสัน อี พุตแมน นักวิเคราะห์หุ้นด้านพลังงานคนหนึ่งกล่าวว่า “โดยรวมแล้ว เชนีย์มีความสามารถในระดับกลาง ๆ เท่านั้น” ส่วนบรรณาธิการข่าวหุ้นของ นิวส์วีค อัลลัน สโลน พูดตรง ๆ ออกมาเลยว่า เชนีย์เป็น “ซีอีโอที่บริหารได้เละตุ้มเป๊ะ”
พอมาถึงสงครามอิรัก เราได้ยินกันมามากแล้วเรื่องรัฐบาลบุชให้ความเอื้ออาทรแก่บรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน, เบคเทล และบริษัทอื่น ๆ อีกหยิบมือหนึ่ง แต่เรามักไม่ค่อยคำนึงถึงความเป็นไปได้ว่า “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” อาจเป็นการทำร้ายธุรกิจใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ อย่างสาหัส ต่อให้เชื่อว่าทำเนียบขาวจงใจก่อสงครามโพ้นทะเลเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจอเมริกัน แต่ก็ไม่มีเหตุผลให้เชื่อเลยว่า รัฐบาลบุชทำได้สำเร็จตามที่วางเป้าหมายไว้
หนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจเริ่มส่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า บรรดาผู้นำภาคธุรกิจที่เคยหวังว่ารัฐบาลบุชจะผลักดันระบบโลกาภิวัตน์บรรษัทของคลินตันให้ทะยานขึ้นไป ตอนนี้พวกเขากลับแสดงความหวั่นเกรงต่อระเบียบโลกที่บุชสร้างขึ้น การตัดลดภาษีและยกเลิกข้อบังคับในประเทศเป็นโบนัสชิ้นงามก็จริง แต่บรรษัทข้ามชาติจำนวนมากของสหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาน่าหวาดเสียว อดีตซีอีโอผู้ล้มเหลวในทำเนียบขาวกำลังผลักดันระเบียบวาระโลกที่ให้ผลประโยชน์แค่ส่วนเสี้ยวน้อยนิดในชุมชนธุรกิจอเมริกัน แล้วทิ้งส่วนที่เหลือจำนวนมากให้ประสบชะตากรรมจากความขุ่นแค้นของพลเมืองโลกและความง่อนแง่นทางเศรษฐกิจ
หากจะวิจารณ์การทำงานของบุช, เชนีย์ และสาวกนีโอคอนส์คนอื่น ๆ คำวิจารณ์อย่างเบาะ ๆ ว่า พวกเขา “มีความสามารถในระดับกลาง ๆ เท่านั้น” ก็อาจจะเบาไปหน่อย ส่วนคำวิจารณ์ว่า พวกเขา “บริหารได้เละตุ้มเป๊ะ” ดูจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า เราลองมาดูตัวอย่างกันสักเล็กน้อย
* * * * *
สงครามต่อต้านเคเอฟซี
ในช่วงระยะหลัง ๆ เคเอฟซีต้องผจญวิบากกรรมอย่างหนักในโลกมุสลิม เมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ระเบิดลูกหนึ่งระเบิดขึ้นในร้านไก่ทอดเคเอฟซีในเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคเอฟซีตกเป็นเป้า ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม ฝูงชนมุสลิมชีอะห์ที่โกรธแค้นประธานาธิบดีมูชาราฟและข่าวการทำร้ายนักโทษที่อ่าวกวนตานาโม เข้าไปจุดไฟเผาร้านเคเอฟซีอีกสาขาหนึ่ง ยังมีอีกสองสาขาที่ถูกบุกทำลายหลังจากสหรัฐฯ โจมตีอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2001
เคเอฟซีไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อเดียวที่เผชิญชะตากรรมแบบนี้ แมคโดนัลด์ก็เช่นกัน มันตกเป็นเป้าการบุกทำลายทั้งในปากีสถานและอินโดนีเซีย การจุดไฟเผาร้านฟาสต์ฟู้ดเป็นแค่สัญญาณบอกอุณหภูมิธุรกิจที่เป็นผลพวงจากนโยบายต่างประเทศอเมริกันที่เปลี่ยนไป ถ้านโยบายการทูตของคลินตันคือความพยายามที่จะทำให้โลกนี้ปลอดภัยสำหรับมิกกี้เมาส์, ไมโครซอฟท์และไก่ทอดล่ะก็ นโยบายของบุช/เชนีย์คือการทำให้ธุรกิจเหล่านี้ตกอยู่ในอันตราย
รัฐบาลคลินตันนั้นชูธงสนับสนุนการสร้างระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ “ที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์” และความร่วมมือ กล่าวคือระเบียบแบบพหุภาคีที่นักวิจารณ์มักเรียกกันว่า “โลกาภิวัตน์บรรษัท” ส่วนรัฐบาลบุชแม้จะประกาศปาว ๆ ว่าสนใจในประเด็นอย่าง “การค้าเสรี” แต่กลับนำเสนอนโยบายที่แตกต่างออกไปมาก โดยหันไปยึดหลักรุกรานก้าวร้าวและ”นโยบายข้าเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว” (unilateralism) รัฐบาลบุชจึงสร้างรูปแบบใหม่ของ “โลกาภิวัตน์จักรวรรดิ” ขึ้นมา ถึงขนาดทำให้สถาบันพหุภาคีอย่างองค์การการค้าโลกกลายเป็นเป็ดง่อยไปเลย แทนที่จะดำเนินงานผ่านองค์กรดังกล่าว รัฐบาลบุชกลับแสดงอาการแข็งกร้าวไม่ยอมประนีประนอมในการต่อรองด้านการค้าและการพัฒนาระหว่างประเทศ แต่ผูกโยงการค้าและความช่วยเหลือเข้ากับข้อผูกมัดทางด้านการทหารโดยตรง มิหนำซ้ำยังผลักไสไล่ส่ง “ยุโรปเก่า” ผู้เบื่อหน่ายสงคราม ไม่ยอมให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนน้อยในระบบโลกาภิวัตน์ใหม่นี้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลบุชเริ่มรื้อทำลายระเบียบโลกที่เคยรับใช้บรรษัทข้ามชาติเป็นอย่างดีในยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษ 1990 ซึ่งกรุยทางให้บรรษัทข้ามชาติรุ่งเรืองขึ้นตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
พูดสั้น ๆ ถ้าบุชเป็นประธานาธิบดีน้ำมัน เขาก็ไม่ใช่ประธานาธิบดีดิสนีย์หรือโคคา-โคลา ถ้าเชนีย์ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อช่วยให้ฮัลลิเบอร์ตันฟื้นตัว สงครามที่เขาก่อก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อสตาร์บัคส์สักเท่าไรเลย
* * * * *
ยี่ห้ออเมริกาชักรุ่งริ่ง
ไม่ว่าการวางเดิมพันอย่างบ้าบิ่นของรัฐบาลบุชเพื่อครองโลก จะช่วยให้โกยกำไรในอนาคตอันใกล้หรือไกลก็ตาม แต่ต้นทุนทางธุรกิจกำลังปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ คลื่นของความรู้สึกต่อต้านอเมริกันนิยมกำลังแผ่ไปทั่วโลก ไปไกลยิ่งกว่าการวางระเบิดร้านเคเอฟซีในเอเชียใต้หรือความเกลียดชังในตะวันออกกลาง หนังสือพิมพ์ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงที่กำลังก่อตัวขึ้น” ต่อสหรัฐอเมริกา เป็นอุปสรรคต่อแผนขยายการลงทุนของบริษัทดิสนีย์ในเอเชีย ยิ่งกว่านั้น นโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของบุชกำลังกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้บริโภค แม้กระทั่งในประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน
ในเดือนธันวาคม 2004 มีรายงานสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคจำนวน 8,000 คน ในหลาย ๆ ประเทศ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า
“หนึ่งในสามของผู้บริโภคทั้งหมดในแคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, รัสเซียและสหราชอาณาจักรกล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” และการยึดครองอิรัก เป็นภาพประทับที่รุนแรงที่สุดที่พวกเขามีต่อสหรัฐอเมริกา….ผู้บริโภคมองว่านโยบายต่างประเทศของอเมริกาในปัจจุบันเป็นภาพติดลบ ทั้งๆ ที่เคยเป็นภาพบวกมาก่อนในอดีต”
ยี่ห้อสินค้าที่การสำรวจระบุว่าตกอยู่ในความเสี่ยง มีอาทิเช่น บุหรี่มาร์ลโบโร, แมคโดนัลด์, อเมริกันแอร์ไลน์, เอกซอน-โมบิล, เชฟรอน เท็กซาโก, ยูไนเต็ดแอร์ไลน์, บัดไวเซอร์, ไครสเลอร์, ตุ๊กตาบาร์บี้, สตาร์บัคส์ และเจเนรัลมอเตอร์ เป็นต้น
ผลการประเมินที่ใกล้เคียงกันนี้ยังมีปรากฏในสื่อมวลชนธุรกิจอื่น ๆ อาทิเช่น ไฟแนนเชียลไทม์ ของอังกฤษ (“โลกกำลังหันหลังให้ยี่ห้ออเมริกา”) และ ฟอร์บส์ (“ยี่ห้ออเมริกากำลังมีปัญหา?”) นิตยสาร ยูเอส แบงเกอร์ ในเดือนสิงหาคม รายงานผลการสำรวจอีกอันหนึ่งที่ชี้ว่า “41% ของชนชั้นนำในแคนาดามีแนวโน้มจะซื้อสินค้าอเมริกันน้อยลงเพราะนโยบายของรัฐบาลบุช ตัวเลขนี้ยังนับว่าน้อยเมื่อเปรียบกับ 56% ในอังกฤษ, 61% ในฝรั่งเศส, 49% ในเยอรมนี และ 42% ในบราซิล”
ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ผู้นำในวงการธุรกิจอเมริกันเองก็เริ่มโยงสภาพตกต่ำทางเศรษฐกิจกับนโยบายจักรวรรดินิยมบ้างแล้ว บทความใน ยูเอส แบงเกอร์ เตือนว่า “ซีอีโอของบรรษัทอเมริกันส่วนใหญ่ ซึ่งกิจการมีการจ้างงานนอกประเทศถึง 8 ล้านคน เริ่มยอมรับแล้วว่า ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันกำลังเป็นปัญหา” รวมทั้งบทความใน บอสตันเฮรัลด์ ที่ระบุว่า “ผู้บริหารที่ถูกสำรวจความคิดเห็นถึง 62% …..กล่าวว่า สงครามกำลังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของอเมริกาในธุรกิจโลก”
* * * * *
บรรษัทอเมริกันติดหล่ม
แต่ปัญหามีแค่ภาพลักษณ์เท่านั้นหรือ? หรือสงครามทำให้กำไรของธุรกิจลดน้อยถอยลงไปด้วย? ในเดือนมิถุนายน 2004 นักข่าวของ ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่า บรรษัทที่มีผลประกอบการย่ำแย่หลายร้อยบริษัทต่างก็โทษสงครามเป็นแพะรับผิด ในจำนวนนี้ ฮิวเลตต์-แพ็คการ์ดอ้างว่า การยึดครองอิรักก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและส่งผลร้ายต่อราคาหุ้นของบริษัท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสื่ออีกจำนวนไม่น้อยที่คร่ำครวญว่า สงครามทำให้รายได้จากโฆษณาลดน้อยลง
แม้ว่าการโยนความผิดให้สงครามอาจเป็นวิธีปัดความรับผิดชอบของผู้บริหารบางคน แต่กระนั้น เสียงบ่นแสดงความไม่พอใจก็พึงต้องรับฟัง ดังที่ผู้จัดการของกองทุนแห่งหนึ่งเขียนไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า “บรรษัทธุรกิจกำลังติดหล่มสงครามอิรัก” กองทุนอีกแห่งหนึ่งสรุปว่า “ราคาของการทำสงคราม (ในอิรักและอัฟกานิสถาน) อาจสูงกว่าที่สังคมอเมริกันคาดหมายหรือเต็มใจที่จะแบกรับ”
แน่นอน เรารู้ว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างกำลังทำกำไรงาม ยอดขายหน้ากากป้องกันแก๊สพิษและรถฮัมวีกันกระสุนพุ่งสูงขึ้น แต่บริษัทที่หนุนหลังสงครามเหล่านี้เป็นแค่กลุ่มน้อย ในอีกด้านหนึ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับเผชิญมรสุมอย่างหนัก ทั้งสายการบิน โรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร ฯลฯ ต่างกล่าวโทษสงครามว่าเป็นต้นเหตุของรายได้ที่ลดลง ผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเตือนว่า:
“สหรัฐฯ กำลังสูญเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลีกเลี่ยงการมาเที่ยวสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะภาพพจน์ที่ด่างพร้อยและนโยบายการออกวีซ่าที่ล่าช้ายุ่งยาก…” นายโรเจอร์ ดาว ผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งอเมริกายังเตือนต่อไปด้วยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาพพจน์ที่ดีของประเทศ “ถ้าเราไม่จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการท่องเที่ยว มันจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวที่ร้ายแรงมากต่อยี่ห้อสินค้าอเมริกัน ไม่ว่าโคคา-โคลา, เจเนรัลมอเตอร์หรือแมคโดนัลด์”
* * * * *
ฝันร้ายทางเศรษฐกิจตั้งเค้าล่วงหน้า
ทุก ๆ ปี ผู้นำภาคธุรกิจจะมารวมตัวกันในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในยุคคลินตันนั้น ถึงจะมีการประท้วงอยู่ข้างนอก บรรยากาศในการประชุมก็ยังคึกคักแจ่มใส ทว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา บรรยากาศอึมครึมลงเรื่อย ๆ ผู้นำภาคธุรกิจเริ่มแสดงความกังวลต่อสงครามและไม่สบายใจกับการใช้ “นโยบายข้าเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว” ของมหาอำนาจโลก
นักเศรษฐศาสตร์สายก้าวหน้าอย่าง ดีน เบเคอร์และมาร์ค ไวส์โบรท เขียนรายงานชื่อ “ต้นทุนทางเศรษฐกิจของสงครามในอิรัก” เตือนว่า นอกจากต้นทุนที่เกิดจากความเป็นปฏิปักษ์ต่อต้านอเมริกันในต่างแดนแล้ว ยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงอีก 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจอเมริกันสูญเสียตำแหน่งงานไปหลายแสนตำแหน่งในระยะเวลา 7 ปี ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายขึ้นอีกในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนด้านความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้การเติบโตของจีดีพีชะลอตัวลง และความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันอาจฉุดประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
เมื่อมาร์ค อิงเลอร์ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ สอบถามเบเคอร์ถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตามข้อสรุปในรายงานข้างต้น เบเคอร์ย้ำว่าตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายก็จริง แต่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงให้เห็นเป็นระยะ ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจริง ๆ แม้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของจีนและอินเดียที่เพิ่มมากขึ้น แต่สงครามในอิรักยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติม รายงานของหน่วยข่าวกรองก็เป็นไปในทางเดียวกันคือ ชาวอเมริกันมีความปลอดภัยในชีวิตน้อยลง แม้กระทั่งเวลาหลายชั่วโมงที่เสียไปกับการเข้าแถวรอตรวจสอบด้านความปลอดภัยที่สนามบินหรือรถไฟใต้ดิน ก็ถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยเลย
และเมื่อไรที่ค่าเงินดอลลาร์ที่สูงเกินความเป็นจริง แต่โป่งพองอยู่ได้เพราะเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ -คือ จีนและญี่ปุ่นยังยอมปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป แต่มิใช่ตลอดไปแน่ เมื่อนั้นฝันร้ายทางเศรษฐกิจย่อมกลายเป็นความจริงขึ้นมา
* * * * *
ธุรกิจจะหันหลังให้รัฐบาลบุชหรือไม่?
ผลสำรวจความนิยมในตัวประธานาธิบดีบุชยามนี้ทำสถิติต่ำสุดตลอดเวลา และ “การมุ่งหน้าต่อไป” ยังคงเป็นนโยบายทางการของวอชิงตันต่อสงครามอิรัก ในบริบทเช่นนี้ ไม่น่าประหลาดใจเลยที่นักการเมือง “สัจนิยม” ของพรรครีพับลิกันเองอย่าง เบรนท์ สโควครอฟท์ (ซึ่งเตือนไว้ใน วอลสตรีทเจอร์นัล ตั้งแต่ก่อนสงครามแล้วว่า “สงครามจะมีราคาแพงมากอย่างไม่ต้องสงสัยพร้อมกับส่งผลพวงร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของโลก”) กำลังส่งเสียงโวยวายอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่บรรดาซีอีโอบรรษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปหานโยบายโลกาภิวัตน์พหุภาคีในสไตล์ของคลินตันอีกครั้ง
แต่ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของฝ่ายไหนบุชหรือคลินตันก็ล้วนแต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของฝ่ายก้าวหน้าทั้งสิ้น ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งครั้งหน้าเข้าไปมากเท่าไร การชิงดีชิงเด่นกันภายในพรรครีพับลิกันก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยนเหยี่ยวประจำทำเนียบขาวให้กลายเป็นเป็ดง่อย คงดีไม่น้อยถ้าการกลายสภาพเป็นสัตว์ปีกคนละประเภทนี้เร่งเร็วขึ้นจากความไม่พอใจของผู้นำภาคธุรกิจ ซึ่งหลังจากชั่งตวงวัดต้นทุนที่เกิดจากนโยบายต่างประเทศของบุชกันใหม่ ก็ตัดสินใจว่าการเป็น”จักรวรรดิ” นั้น มันไม่คุ้มกันเลย
Mark Engler เป็นนักเขียนในนิวยอร์กซิตี เป็นนักวิเคราะห์ในกลุ่ม Foreign Policy in Focus มีเว็บไซท์http://www.democracyuprising.com Kate Griffiths เป็นผู้ช่วยวิจัยเพื่อเขียนงานชิ้นนี้